ตลาดการจำหน่ายสุกรภายในประเทศและต่างประเทศ

ตลาดภายในประเทศ
เป็นตลาดผู้บริโภคภายในประเทศเราซึ่งนับตั้งแต่หน่วยเล็กสุดระดับหมู่บ้านเป็นการฆ่าเนื่องในงานพิธีต่าง ๆ ไปจนถึงตลาดกลางซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยบริษัทเอกชน โดยจัดให้มีการประมูลราคาสุกรกันตามคุณภาพ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามปัญหาของตลาดภายในประเทศก็ยังคงมีอยู่เนื่องมาจาก

1) ระบบตลาดไม่เหมาะสม การตลาดสุกรยังมีกลไกที่สลับซับซ้อนผู้เลี้ยงไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ ส่วนเหลื่อมของราคายังไม่เป็นธรรมแก่ผู้เลี้ยง พ่อค้า ( เจ้าของเขียง ) และผู้บริโภคขาดการเชื่อมโยงกันทั้งระบบ และขาดเสถียรภาพ โดยปกติจะเห็นว่า ขณะที่ราคาสุกรมี
ชีวิตลดลงแต่ราคาเนื้อสุกรตามเขียงจะยังคงราคาอยู่ไม่ลดลงหรือลดลงในอัตราที่ไม่เป็นสัดส่วนยุติธรรม

2) ตลาดรับซื้อสุกร ยังไม่มีการรับซื้อสุกรตามคุณภาพซาก ไม่ทำให้เกิดการจูงใจในการผลิตสุกรคุณภาพดี และทำให้การพัฒนาพันธุ์สุกรเป็นไปอย่างช้า ๆ
3) ระบบการฆ่าสุกร ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และรัฐยังควบคุมมากจนขาดความคล่องตัวและขาดประสิทธิภาพ ในขณะที่ราคาสุกรลดลง เจ้าของฟาร์มอาจจะทำการชำแหละเนื้อสุกรขายเสียเอง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะอำนวยความสะดวกให้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น จะเป็นการลดความเสียหายให้กับฟาร์มเลี้ยงสุกร และยังช่วยลดการลักลอบฆ่าสุกรลดลงด้วย

ตลาดต่างประเทศ
การผลิตสุกรของประเทศไทยเรานั้นมีโอกาสและได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านมากในแง่ของวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเรามีมากพอที่จะผลิตสุกรได้ตลอดเวลาและในจำนวนที่ตลาดต้องการ แต่การผลิตสุกรยังต้องอาศัยตลาดในประเทศเป็นหลัก มีจำนวนเล็กน้อยที่ส่งออกไปขายต่างประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
1) ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการบุกเบิกหาตลาดและมาตราการการสนับสนุน และช่วยเหลือการส่งออก ทั้งด้านการลด ภาษีการส่งออกลดภาษีขาเข้าของวัตถุดิบอาหารบางอย่างเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนการ ติดต่อเจรจาเพื่อขอลดภาษีขาเข้าจากประเทศผู้สั่งเข้าสุกรจากประเทศไทยเรา เป็นต้น

2) ขาดโรงฆ่าสัตว์ที่ทันสมัยและถูกสุขลักษณะอนามัยตลาดต่างประเทศจะคำนึงถึงคุณภาพซากสุกรที่ดี และถูกสุขลักษณะอนามัย นั่นคือ โรงฆ่าสัตว์จะต้องได้มาตรฐาน และสะอาด ซึ่งในบ้านเราโรงฆ่าสัตว์ยังด้อยในเรื่องของความสะอาดถูกอนามัย ซึ่งเป็นที่รังเกียจของตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลได้เปิดโอกาสให้เอกชนลงทุนสร้างโรงฆ่าสัตว์ได้ ก็จะทำให้โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกมาตรฐานของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น

3) ปัญหาโรคระบาดนับว่าเป็นปัญหาสำคัญของการเปิดตลาดต่างประเทศ โรคระบาดที่สำคัญและเป็นสิ่งต้องห้ามของตลาดต่างประเทศ คือ โรคปากและเท้าเปื่อย อหิวาต์ โรคพิษสุนัขบ้าเทียม ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะมีแผนการป้องกันและปราบปรามโรคอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยเฉพาะในเขตที่มีการ ส่งเสริมการผลิตสัตว์เพื่อการส่งออก ต้องมีการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสัตว์เข้าเขตปลอดโรคอย่างจริงจัง

This entry was posted in Uncategorized. Bookmark the permalink.

Comments are closed.