โอกาสและอุปสรรคในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์สุกรของไทยใน AEC

ไทยนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการขยายตลาดส่งออกในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในรูปของสุกรมีชีวิต(สุกรพันธุ์ และลูกสุกรขุน) เนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์สุกร เนื่องจากมีความพร้อมในการขยายปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ จากปัจจุบันที่ไทยมีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 10-12 ล้านตัว/ปี และการเลี้ยงร้อยละ 75 เป็นการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อย ที่เหลืออีกร้อยละ 25 เป็นการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อการค้าหรือการเลี้ยงลักษณะลูกเล้า(การเลี้ยงในระบบประกันราคากับโรงงานแปร รูปสุกร) คาดว่าในอนาคตการเลี้ยงจะเข้าสู่ระบบการเลี้ยงเป็นฟาร์มขนาดใหญ่หรือการเลี้ยงลักษณะลูกเล้ามากขึ้น ซึ่งทำให้มีการยกระดับมาตรฐานการจัดการฟาร์มสุกร และสามารถขยายปริมาณการผลิตเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่การผลิตร้อยละ 98 เพื่อการบริโภคภายในประเทศ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ

• พันธุ์สุกรที่มีคุณภาพ ทั้งสุกรพ่อแม่พันธุ์ และสุกรขุน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งมีระบบมาตรฐานฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศอาเซียนใหม่(ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม)มีการนำเข้าสุกรมีชีวิตและนำเอาระบบการจัดการฟาร์มไปเป็นแบบอย่างเพื่อยกระดับฟาร์มสุกรในแต่ละประเทศ

• โรงงานชำแหละสุกรมาตรฐานเพื่อการส่งออก 8 แห่ง กำลังการผลิตประมาณ 6,750 ตัน/วัน ทำให้ไทยมีกำลังการผลิตเนื้อสุกรสดแช่เย็นแช่แข็งที่ได้มาตรฐานการส่งออก รวมทั้งมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรที่ทันสมัยที่ได้มาตรฐานสากล 28 โรงงาน ทั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรพื้นเมือง เช่น ลูกชิ้นหมู กุนเชียง แหนม หมูหยอง หมูแผ่น เป็นต้น และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรแบบตะวันตก เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เป็นต้น ซึ่งไทยสามารถขยายปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์สุกรเหล่านี้ได้อีกมากในตลาดAEC

• รัฐบาลสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกสุกร โดยการจัดทำยุทธ์ศาสตร์การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า สำหรับในอนาคต กระทรวงพาณิชย์จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ พิจารณากำหนดนโยบายดูแลด้านการผลิตให้ปริมาณผลผลิตสุกรมีเสถียรภาพสอดคล้องกับตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ และกำหนดราคาขั้นสูงและขั้นต่ำของสุกรมีชีวิตเพื่อให้เกษตกรกรจำหน่าย เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกรให้ผู้เลี้ยงสุกรมีความมั่นคงในอาชีพ และผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในด้านราคา

ประเด็นที่ผู้ประกอบธุรกิจสุกรและธุรกิจต่อเนื่องจะต้องคำนึงถึงด้วยคือ ในอนาคตความต้องการสุกรและผลิตภัณฑ์อาจจะเปลี่ยนไปเป็นความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์สุกรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์สุกรจากฟาร์มที่เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งผู้บริโภคมีแนวโน้มจะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุกรโดยพิจารณาจากตรา ยี่ห้อมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคต้องการความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของการผลิต ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสุกรและธุรกิจต่อเนื่องต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับความต้องการของผู้บริโภค ด้วยเช่นกัน

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.