แนวทางการปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งของการเลี้ยงสุกรของประเทศในAEC

ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ประเทศต่างๆในอาเซียนเร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสุกร โดยการเปิดรับการเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจการเลี้ยงสุกรและแปรรูปสุกรจากต่างประเทศ โดยแนวทางการปรับจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งของการเลี้ยงสุกรของประเทศในAEC ได้แก่

การเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อการค้าทดแทนฟาร์มรายย่อยและการเลี้ยงสุกรแบบพื้นบ้าน เดิมการเลี้ยงสุกรส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงของ เกษตรกรรายย่อยและการเลี้ยงแบบพื้นบ้าน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณสุกรที่ผลิตได้นั้นไม่แน่นอน เนื่องจากมักจะประสบปัญหาในเรื่องระบบการจัดการฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะปัญหาการป้องกันโรคระบาดที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อปริมาณการผลิตสุกร ดังนั้น การพัฒนาการเลี้ยงสุกรในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมาจึงมุ่งเน้นไปที่การเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อการค้า หรือระบบลูกฟาร์ม โดยเน้นระบบการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย ปลอดโรค ถูกสุขลักษณะ และปลอดจากสารเคมีตกค้างในเนื้อสุกร ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในประเทศแล้วยังเป็นการสร้างตลาดส่งออกในอนาคต เนื่องจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนยังคงไม่ได้รับการรับรองจากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(The Office International des Epizooties :OIE) เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขยายการส่งออกเนื้อสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง โดยการส่งออกส่วนใหญ่ยังเป็นสุกรแปรรูป โดยเฉพาะเนื้อสุกรต้มสุก และผลิตภัณฑ์สุกรเท่านั้น

การพัฒนาโรงฆ่าและชำแหละสุกรที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล เดิมการฆ่าและชำแหละสุกรส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งระบบการจัด เก็บและการขนส่งที่ยังไม่มีระบบการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อรักษาคุณภาพของเนื้อสุกรก่อนถึงมือผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังนิยมบริโภคเนื้อสุกรสด และ นิยมซื้อจากตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดลักษณะนี้ยังเป็นตลาดส่วนใหญ่ของการจำหน่ายเนื้อสุกรในประเทศต่างๆในอาเซียน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงความปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสุกรที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ทำให้เริ่มมีตลาดเนื้อสุกรที่มีตรายี่ห้อ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการสร้างตลาดส่งออกในอนาคตอีกด้วย เนื่องจากผู้นำเข้าในต่างประเทศสามารถตรวจสอบ ย้อนกลับถึงระดับฟาร์มที่เลี้ยงสุกร และโรงฆ่าชำแหละสุกร ซึ่งทำให้มั่นใจในคุณภาพของเนื้อสุกร

การลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรเริ่มเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากขึ้น จากเดิมที่มีการปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรใน ลักษณะผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน เช่น ลูกชิ้นหมู กุนเชียง หมูยอ แหนม หมูหยอง หมูแผ่น เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันโรงงานเหล่านี้มีการพัฒนาให้มีการผลิตที่ทันสมัยได้มาตรฐานมากขึ้น และสามารถขยายตลาดส่งออกได้ด้วย นอกจากนี้ จากความนิยมบริโภคอาหารตะวันตกมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์สุกรประเภทไส้กรอก แฮม เบคอน ฯลฯ ได้รับความนิยมมากขึ้น และมีการตั้งโรงงานผลิตในบางประเทศในอาเซียนเช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น เพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้า

การลงทุนขยายพื้นที่ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์และตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป จากการขยายตัวของธุรกิจฟาร์มสุกรส่งผลให้ต้องมีการขยายพื้นที่ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง นอกจากนี้ อาหารสัตว์นับว่าเป็นต้นทุนการผลิตสำคัญ โดยมีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้น การมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพียงพอนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจการผลิตสุกร

สำหรับในอนาคตโรงงานผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูปก็จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ในAECยังคงผสมอาหารเลี้ยงสุกรเอง แต่ในอนาคตเมื่อธุรกิจฟาร์มสุกรมีการพัฒนาเป็นการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อการค้ามากขึ้น เกษตรกรคงต้องหันไปใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งเพื่อการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานในการผลิตสุกร รวมทั้งการควบคุมต้นทุนการผลิต เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์สำเร็จรูปมีการปรับส่วนผสมของวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามการเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละช่วงภาย ใต้การควบคุมคุณค่าของโภชนาการให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุของสุกร

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged , , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.