อุตสาหกรรมการผลิตสุกรเพื่อแข่งขันใน AEC

ประเทศในอาเซียนเป็นแหล่งผลิตสุกรที่สำคัญแหล่งหนึ่งของโลก รองจากจีน สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการ ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศในอาเซียน ส่งผลให้รายได้ของประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้อัตราการบริโภคเนื้อสุกร และผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัว ทำให้ประเทศในอาเซียนเร่งขยายการผลิตสุกรเพื่อรองรับความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น และเพื่อการส่งออกในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน

สำหรับไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกผลิตภัณฑ์สุกรดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน เนื่องจากผลิตภัณฑ์สุกรของไทยได้รับการยอม รับจากประเทศในอาเซียนถึงมาตรฐานการผลิต ตั้งแต่ในระดับฟาร์มไปจนถึงระดับโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการบริโภคสุกรในประเทศยังไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆโดย เฉพาะเวียดนาม ซึ่งแม้ว่าจะผลิตสุกรได้มากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน แต่ปริมาณการบริโภคในประเทศก็อยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกัน ดังนั้น ไทยมีโอกาสอย่างมากในการขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ในAEC โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกร รวมทั้งยังมีโอกาสในการขยายเข้าไปลงทุนในธุรกิจฟาร์มสุกรและโรงงานแปรรูปสุกรในประเทศอาเซียนใหม่ โดยเฉพาะลาว และ กัมพูชา ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศให้การสนับสนุนการเข้าไปลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเพื่อยกระดับมาตรฐานและขยายปริมาณการผลิตอุตสาหกรรมสุกรของประเทศ

ประเทศในอาเซียนที่มีการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์คือ ไทย(สัดส่วนร้อยละ 0.25 ของปริมาณการส่งออกสุกรของโลก) และ เวียดนาม(ร้อยละ 0.24) ซึ่งในปัจจุบันทั้งไทยและเวียดนามมีการขยายปริมาณการผลิตสุกร แต่เวียดนามมีข้อจำกัดคืออัตราการบริโภคสุกรและผลิตภัณฑ์ในเวียดนามอยู่ในเกณฑ์สูงที่สุดในอาเซียน คือ 21.9 กิโลกรัม ต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากรที่ส่งผลต่อความต้องการบริโภคสุกรและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ไทยมีอัตราการบริโภคเพียง 13.5 กิโลกรัมต่อ คนต่อปี และมีความสามารถในการขยายการผลิตและผลักดันการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ โดยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขอุปสรรคสำคัญในการส่งออกคือ การยื่นต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ(The Office International des Epizooties :OIE) เพื่อขอขยายเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในภาคตะวันออก

ประเทศในอาเซียนเป็นที่น่าจับตามองในแง่ของศักยภาพของการขยายการเลี้ยงสุกรเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของจำนวนประชากร และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ที่ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรและ ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งศักยภาพในการลงทุนของโรงงานแปรรูปสุกร ตั้งแต่โรงฆ่าและชำแหละสุกรที่ทันสมัย ถูกสุขอนามัย ไปจนถึงโรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปสุกร ซึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศในอาเซียนให้การสนับสนุนทั้งในแง่ของกิจการฟาร์มสุกร และการตั้งโรงงานแปรรูปสุกร ทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ และการขยายการส่งออกในอนาคต ซึ่งตลาด สุกรมีชีวิต เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ในอาเซียนด้วยกันเองนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากแต่ละประเทศในAECยังต้องพึ่งพาการนำเข้าที่แตกต่างกัน

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.