การส่งเสริมการขายของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

การส่งเสริมการขายของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

จากข้อร้องเรียนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรซึ่งเป็นตัวแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ สามารถสรุปสภาพปัญหาที่เป็นข้อร้องเรียนได้ว่า การเลี้ยงสุกรในประเทศไทยถึงแม้จะมีพัฒนาการมายาวนาน แต่เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรมีอิสระเสรีในการเลือกเลี้ยงสุกรและขยายการเลี้ยงมากขึ้นในช่วงที่สุกรมีราคาดี และเพราะแรงจูงใจด้านราคาทำให้ผู้เลี้ยงขยายการเลี้ยงอย่างไม่มีขีดจำกัด เมื่อปริมาณสุกรมีมากเกินความต้องการผลที่ตามมาราคาก็จะตกต่ำ จนถึงระดับที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรแบกรับภาระการขาดทุนไม่ไหว ก็จะหยุดเลี้ยงสุกรไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อปริมาณสุกรลดลงถึงระดับที่ไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการของตลาด ราคาสุกรก็จะกลับปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จนกระทบถึงผู้บริโภคซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เหตุการณ์จะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเช่นนี้ตลอดมา กล่าวคือ ราคาสุกรและปริมาณการเลี้ยงสุกรจะผันผวนเป็นวัฏจักรที่เรียกกันว่า “วัฎจักรสุกร” หรือ Hog Cycle ประกอบกับปัญหาโรคระบาดสัตว์ โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อย รวมทั้งการใช้สารต้องห้ามบางชนิดในสุกรส่งผลให้ตลาดสุกรของไทยไม่พัฒนาก้าวหน้าไปเท่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ และการที่เนื้อสุกรของไทยไม่สามารถส่งออกไปขายในตลาดสำคัญ ๆ ในต่างประเทศที่นิยมบริโภคสุกร เช่น ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ทำให้การแก้ปัญหาวัฏจักรสุกรที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ไม่สามารถแก้ไขได้โดยการใช้นโยบายการส่งออกเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ส่งผลให้อุตสาหกรรมสุกรของไทยสูญเสียโอกาสในการพัฒนาให้เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุดได้ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีการผลิตสุกร ความเพียงพอด้านพืชอาหารสัตว์ที่มีหลากหลายชนิด และการสั่งสมประสบการณ์และทักษะในการเลี้ยงสุกรของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวนมากที่สามารถพัฒนาไปสู่การเลี้ยงสุกรเพื่อการค้าได้ แต่เพราะข้อจำกัดด้านการตลาดและความไม่แน่นอนชัดเจนในนโยบายของรัฐในการพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรทำให้อุตสาหกรรมสุกรของไทยย่ำอยู่กับที่ไม่มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศคู่แข่งทั่วโลก เช่น ประเทศจีน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น

แม้ว่าการดูแลด้านนโยบายสุกรของรัฐ จะมีคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการปศุสัตว์แห่งชาติดูแล แต่ในความเป็นจริงคณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมน้อยครั้งมากในแต่ละปี และยังขาดความชัดเจนเชิงนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมดูแล และการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสุกรแห่งชาติการที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นความรับผิดชอบที่สำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกระดับจะต้องดูแลจะต้องรับผิดชอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจะต้องถือปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัติ ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ด้วย เกี่ยวกับปัญหานี้ปรากฏว่า มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมลภาวะจากฟาร์มสุกรของประชาชนโดยทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่เข้าสู่กระบวนการบริหารอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภาเองก็มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างฟาร์มสุกรในพื้นที่ไม่สมควรเข้ามาด้วยเช่นกัน

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged , , . Bookmark the permalink.

Comments are closed.